วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ในหลวงภูมิพล กับความทรงจำ(ตอนที่4)



     ปี2517  ในหลวงภูมิพล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานประทับแรมขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เพื่อจะได้ทรงมีโอกาสเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรได้โดยใกล้ชิด ที่จังหวัดนราธิวาสนี้เอง เมื่อปีพุทธศักราช 2517 ได้ทรงริเริ่มโครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ และโครงการชลประทานมูโนะ ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรจำนวนมาก ได้มีที่ทำมาหากินเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน 


     ปี2518  ส่วนพระราชฐานที่ประทับในกรุงเทพฯ คือ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเกษตรกรรมตามพระราชดำริ เช่น บ่อปลา หรือนาข้าวทดลอง เป็นต้น ในปีนี้ได้ทรงริเริ่มโครงการโรงบดแกลบสวนจิตรลดา เพื่อแสวงหาหนทางใช้ประโยชน์จากแกลบที่ได้จากการสีข้าว เพื่อประหยัดทรัพยากรพลังงานในรูปอื่น 


     ปี2519  วันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2519 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหมั้น หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร หลังพระราชพิธีหมั้นแล้วไม่นาน ก็โปรดให้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ในตอนต้นเดือนมกราคม พุทธศักราช 2520 


     ปี2520  ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของพสกนิกรทั่วประเทศ 


     ปี2521  ปลายปีพุทธศักราช 2521 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา มีกำหนด 15 วัน ในวันพระราชพิธีทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นายเติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลานั้น ได้เฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วย 


     ปี2522  วันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2522 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือน และขึ้นพระอู่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชนัดดาพระองค์แรก ซึ่งประสูติตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช 2521 หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วเพียง 2 วัน 


     ปี2523  เนื่องจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศเพื่อนบ้านที่รุนแรงขึ้นโดยลำดับ ติดต่อกัน 2-3 ปี ทำให้มีผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเกียรติคุณเป็นที่ร่ำลือไปในนานาประเทศ พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ฉายเมื่อคราวที่นางโรสลิน คาร์เตอร์ ภรรยาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยี่ยมค่ายผู้อพยพในประเทศไทย และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ภูพานราชนิเวศน์ 


     ปี2524  ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพไทย ในหลวงภูมิพล ทรงเป็นมิ่งขวัญและมิ่งมงคลเหนือเศียรเกล้าของทหารหาญทุกกรมกอง คราใดก็ตามที่เกิดเหตุความไม่สงบเรียบร้อย หรือภัยรุกรานจากศัตรูภายนอกประเทศขึ้น ทหารทุกคนจึงพร้อมใจถวายชีวิตเป็นราชพลี เพราะเขารู้ดีว่า การทำงานเพื่อบ้านเมือง และเพื่อ “พระเจ้าอยู่หัว” เป็นเกียรติสูงสุดของคนไทย 


     ปี2525  ปีนี้เป็นโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2525 ขณะทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระอาทิตย์ทรงกลดงามโชติช่วงเหมือนเหตุการณ์เมื่อครั้งแรกสร้างกรุง ตามที่พระราชพงศาวดารจดไว้


     ปี2526  ปลายฤดูฝนพุทธศักราช 2526 เกิดอุทกภัยขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า ในหลวงภูมิพล เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภูมิประเทศที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อทรงหาหนทางแก้ไข ด้วยทรงยึดมั่นในพระราชหฤทัยเสมอว่า ทุกข์สุขของราษฎร คือทุกข์สุขของพระองค์เอง ชาวบ้านที่ได้เฝ้าชมพระบารมีโดยไม่คาดฝัน หลายคนนึกอยู่ในใจว่า “น้ำท่วมหรือจะชนะน้ำพระราชหฤทัย”


     ปี2527  ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่มีวันหยุด และไม่เลือกเวลา พระราชกฤษดาภินิหารของในหลวงภูมิพล เป็นที่ขจรขจายไปทั่วทิศานุทิศ เช่นในปีพุทธศักราช 2527 นี้ มหาวิทยาลัยทัฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เฉลิมพระเกียรติยศ 


     ปี2528  นอกเหนือจากโครงการตามพระราชดำริ นับร้อยนับพันโครงการ ในหลวงภูมิพล ได้ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นเสมือนหนึ่งห้องทดลองขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง ได้เข้ามาศึกษาวิธีการพัฒนาแผนใหม่ได้ด้วยตนเอง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ 


     ปี2529  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงพระปรีชาเยี่ยมยอดในงานศิลปะทุกแขนง 


     ปี2530  ปีพุทธศักราช 2530 เป็นปีมหามงคลของชาวไทย 50 กว่าล้านคน ด้วยเป็นมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ทุกฝ่ายทุกคนพร้อมใจกันจัดงานสมโภชด้วยความรื่นเริงใจ งานเฉลิมพระชนมพรรษาคราวนั้น มีงานใหญ่ติดต่อกันหลายวัน แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็ยังรู้สึกว่าไม่พอแก่พระมหากรุณาธิคุณที่เป็นที่ล้นที่พ้นเกินจะประมาณ


     ปี2531  วันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 เป็นศุภมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อันเป็นสมัยที่หาได้ยากยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งการพระราชพิธี ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ตามแบบแผนพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครั้งแรกเมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงมหาราช













2 ความคิดเห็น:

  1. " Long Live The Great King Bhumibol Adulyadej "
    “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานองค์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราชา

    ตอบลบ
  2. ผ่านมาแล้ว 65 ปีที่พระองค์ทรงทำเพื่อปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงทำแบบไม่รู้เหน็จเหนื่อยเพราะ ทุกข์สุขของราษฎรคือทุกข์สุขของพระองค์

    Long Live The Great King Bhumibol Adulyadej

    ตอบลบ