วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ในหลวงภูมิพล กับความทรงจำ(ตอนที่4)



     ปี2517  ในหลวงภูมิพล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานประทับแรมขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เพื่อจะได้ทรงมีโอกาสเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรได้โดยใกล้ชิด ที่จังหวัดนราธิวาสนี้เอง เมื่อปีพุทธศักราช 2517 ได้ทรงริเริ่มโครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ และโครงการชลประทานมูโนะ ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรจำนวนมาก ได้มีที่ทำมาหากินเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน 


     ปี2518  ส่วนพระราชฐานที่ประทับในกรุงเทพฯ คือ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเกษตรกรรมตามพระราชดำริ เช่น บ่อปลา หรือนาข้าวทดลอง เป็นต้น ในปีนี้ได้ทรงริเริ่มโครงการโรงบดแกลบสวนจิตรลดา เพื่อแสวงหาหนทางใช้ประโยชน์จากแกลบที่ได้จากการสีข้าว เพื่อประหยัดทรัพยากรพลังงานในรูปอื่น 


     ปี2519  วันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2519 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหมั้น หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร หลังพระราชพิธีหมั้นแล้วไม่นาน ก็โปรดให้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ในตอนต้นเดือนมกราคม พุทธศักราช 2520 


     ปี2520  ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของพสกนิกรทั่วประเทศ 


     ปี2521  ปลายปีพุทธศักราช 2521 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา มีกำหนด 15 วัน ในวันพระราชพิธีทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นายเติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลานั้น ได้เฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วย 


     ปี2522  วันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2522 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือน และขึ้นพระอู่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชนัดดาพระองค์แรก ซึ่งประสูติตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช 2521 หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วเพียง 2 วัน 


     ปี2523  เนื่องจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศเพื่อนบ้านที่รุนแรงขึ้นโดยลำดับ ติดต่อกัน 2-3 ปี ทำให้มีผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเกียรติคุณเป็นที่ร่ำลือไปในนานาประเทศ พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ฉายเมื่อคราวที่นางโรสลิน คาร์เตอร์ ภรรยาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยี่ยมค่ายผู้อพยพในประเทศไทย และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ภูพานราชนิเวศน์ 


     ปี2524  ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพไทย ในหลวงภูมิพล ทรงเป็นมิ่งขวัญและมิ่งมงคลเหนือเศียรเกล้าของทหารหาญทุกกรมกอง คราใดก็ตามที่เกิดเหตุความไม่สงบเรียบร้อย หรือภัยรุกรานจากศัตรูภายนอกประเทศขึ้น ทหารทุกคนจึงพร้อมใจถวายชีวิตเป็นราชพลี เพราะเขารู้ดีว่า การทำงานเพื่อบ้านเมือง และเพื่อ “พระเจ้าอยู่หัว” เป็นเกียรติสูงสุดของคนไทย 


     ปี2525  ปีนี้เป็นโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2525 ขณะทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระอาทิตย์ทรงกลดงามโชติช่วงเหมือนเหตุการณ์เมื่อครั้งแรกสร้างกรุง ตามที่พระราชพงศาวดารจดไว้


     ปี2526  ปลายฤดูฝนพุทธศักราช 2526 เกิดอุทกภัยขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า ในหลวงภูมิพล เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภูมิประเทศที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อทรงหาหนทางแก้ไข ด้วยทรงยึดมั่นในพระราชหฤทัยเสมอว่า ทุกข์สุขของราษฎร คือทุกข์สุขของพระองค์เอง ชาวบ้านที่ได้เฝ้าชมพระบารมีโดยไม่คาดฝัน หลายคนนึกอยู่ในใจว่า “น้ำท่วมหรือจะชนะน้ำพระราชหฤทัย”


     ปี2527  ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่มีวันหยุด และไม่เลือกเวลา พระราชกฤษดาภินิหารของในหลวงภูมิพล เป็นที่ขจรขจายไปทั่วทิศานุทิศ เช่นในปีพุทธศักราช 2527 นี้ มหาวิทยาลัยทัฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เฉลิมพระเกียรติยศ 


     ปี2528  นอกเหนือจากโครงการตามพระราชดำริ นับร้อยนับพันโครงการ ในหลวงภูมิพล ได้ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นเสมือนหนึ่งห้องทดลองขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง ได้เข้ามาศึกษาวิธีการพัฒนาแผนใหม่ได้ด้วยตนเอง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ 


     ปี2529  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงพระปรีชาเยี่ยมยอดในงานศิลปะทุกแขนง 


     ปี2530  ปีพุทธศักราช 2530 เป็นปีมหามงคลของชาวไทย 50 กว่าล้านคน ด้วยเป็นมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ทุกฝ่ายทุกคนพร้อมใจกันจัดงานสมโภชด้วยความรื่นเริงใจ งานเฉลิมพระชนมพรรษาคราวนั้น มีงานใหญ่ติดต่อกันหลายวัน แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็ยังรู้สึกว่าไม่พอแก่พระมหากรุณาธิคุณที่เป็นที่ล้นที่พ้นเกินจะประมาณ


     ปี2531  วันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 เป็นศุภมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อันเป็นสมัยที่หาได้ยากยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งการพระราชพิธี ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ตามแบบแผนพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครั้งแรกเมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงมหาราช













ในหลวงภูมิพล กับเมืองแห่งไข่มุกอันดามัน นามว่าภูเก็ต


     
     ในบ่ายของ วันที่ 8 มีนาคม 2502 เมื่อในหลวงภูมิพลและพระราชินีเสด็จมาถึง ต.บ้านท่านุ่น จ.พังงา ก็ได้ลงเรือแพขนานยนต์เพื่อข้ามทะเลอันดามันไปยังจังหวัดภูเก็ต โดยไปขึ้นฝั่งที่ ท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต


     ขณะที่เรือแพขนานยนต์กำลังข้ามฝั่งมายังจังหวัดภูเก็ต ราษฎรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จก็ต่างเปล่งเสียงโห้ร้องไชโย ถวายพระพร กันดังกึกก้องไปทั่วทั้งบริเวณ



     เมื่อข้ามมาถึง นาย อ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ก็ได้กราบบังคมทูลถวายพระแสงราชศาสตราประจำจังหวัด


     จากนั้นในหลวงภูมิพลก็เสด็จขึ้นพลับพลาที่ประทับครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จต่อไปยังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อีกประมาณ 24 กิโล ซึ่งระหว่างทางเสด็จชาวภูเก็ตรับเสด็จในหลวงและพระราชินีของพวกเค้าอย่างมโหฬารที่สุด โดยมีแถวประชาชนเรียงรายตั้งแต่ชานเมืองไปจนถึงจวนผู้ว่าฯ ซึ่งนอกจากจะมีพสกนิกรชาวไทยที่รอรับเสด็จแล้ว ก็ยังมีชาวต่างชาติที่อยู่ในภูเก็ต ซึ่งมีทั้ง จีน อินเดีย มลายู ฝรั่งทุกชาติทุกภาษา ต่างก็มาเฝ้ารับเสด็จ 


และยังได้มีการตั้งซุ้มประตูต้อนรับ ไม่ต่ำกว่า20ซุ้ม โดยต่างก็กระตือรือร้นในการที่จะรอเฝ้ารับเสด็จในหลวงภูมิพลและพระราชินีที่รักและเทิดทูลของพวกเค้า




มีการตกแต่งบ้านเรือน รวมถึงการแต่งกายที่สวยงามเป็นพิเศษ(โดยในช่วงนั้นก่อนวันเสด็จราว10วัน ร้านตัดเสื้อชาย-หญิง ในภูเก็ตต่างต้องปิดรับงาน เพราะงานที่รับไว้ล้นมือ จนต้องทำกันทั้งวันทั้งคืน) และนอกจากคนในภูเก็ตแล้วก็ยังมีคนจากจังหวัดใกล้เคียง ก็ต่างมาร่วมรอเฝ้ารับเสด็จด้วยเป็นจำนวนมาก จนทำให้ตอนเย็นและค่ำของวันที่เสด็จมาถึง การจราจรในตัวเมืองภูเก็ตหลายสายต่างติดขัดแน่นขนัดไปทั่วทั้งจังหวัด



     ในเช้าตรู่ของวันที่ 9 มีนาคม 2502 สนามหน้าศาลากลางจังหวัด คับคั่งไปด้วยผู้คนที่ต่างมารอเฝ้าชมพระบารมีของในหลวงภูมิพลและองค์พระราชินี พอเวลา08.00 ในหลวงภูมิพล ซึ่งใส่เครื่องแบบชุดจอมพลเรือ ส่วนพระราชินีใส่ชุดสีฟ้าสดใส ก็เสด็จขึ้นประทับบนศาลากลางจังหวัด นาย อ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็กราบบังคมทูลว่า "..ในนามของราษฎรชาวภูเก็ต รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทั้ง2พระองค์ทรงเสด็จมาเยี่ยมชาวภูเก็ต และขอถวายพระพรให้ทรงมีพระเกษมสำราญ.."
     ในหลวงภูมิพล ก็ทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจ ในน้ำใจของชาวภูเก็ตที่ได้ให้การต้อนรับ และรับสั่งว่าทรงพอพระทัยในภูมิประเทศอันสวยงามของภูเก็ตอย่างมาก 
          "เราก็รอคอยมานานแล้วเหมือนกัน ที่จะได้มาเยี่ยมเมืองนี้ 
และอยากที่จะมาเที่ยวอีกเมื่อมีโอกาส


     จากนั้นในหลวงภูมิพลก็เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ อ.ถลาง โดยครั้งนั้นได้ทรงเสด็จไปชมวัดพระนางสร้างด้วย
  





เสร็จแล้วก็ทรงเสด็จชมหาดสุรินทร์ จนถึงเวลา18.00 จึงเสด้จกลับจวนผู้ว่าฯที่ซึ่งจัดเป็นที่ประทับแรม 






(ในคืนของวันที่ 9 มีนาคม 2502 คืนนั้น ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักประมาณ1ชั่วโมง จากที่ไม่เคยตกในภูเก็ตมานานถึง4เดือนกว่า โดยชาวเมืองภูเก็ตต่างก็เชื่อกันว่าเป็นอภินิหาร...แต่ก็ได้ทำให้พระราชินีทรงมีพระอาการเป็นหวัดเล็กน้อย)


     เช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2502 ซึ่งตามหมายกำหนดการ จะเป็นการพักผ่อนตามอัธยาศัยของพระองค์ ในหลวงภูมิพลจึงได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ โดยมีเพียงราชองครักษ์ติดตามเท่านั้น(โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่อารักขารายใดทราบเลย) พระองค์ทรงเสด็จไปถ่ายรูปซุ้มรับเสด้จต่างๆที่ราษฎรสร้างกันอย่างสวยงามเพื่อต้อนรับพระองค์ จากนั้นก็เสด็จชมไปท่าเรือใหม่ ที่ ต.บางรั่ว ชมอ่าวมะขาม และหาดราไวย์
ราษฎรที่พบเห็นพระองค์ต่างก็ตกใจ และพากันเข้าเฝ้า ในหลวงภูมิพลท่านก้ทรงทักทายสอบถามถึงสารทุกข์สุขดิบและการทำมาหากินต่างๆ ของราษฎรอย่างไม่ทรงถือพระองค์ จนผู้ที่ได้เข้าเฝ้าต่างปลาบปลื้มไปตามๆกัน 
  





     ต่อมาในเช้าของวันที่ 11 มีนาคม 2502 ในหลวงภูมิพลท่านก็ทรงเสด็จออกชมเมืองภูเก็ต เพียงพระองค์เดียวอีก(ไปกับราชองครักษ์คนสนิทไม่กี่คน) โดยได้ไปประทับที่ป่าตองในช่วงเช้า พอช่วงบ่ายก็ทรงได้เสด็จไปยังวัดมงคลนิมิต ซึ่งได้นมัสการพระพุทธรูปทองคำที่เพิ่งขุดพบใหม่ด้วย โดยได้รับสั่งกับเจ้าอาวาสว่ามีลักษณะที่งดงามมาก ซึ่งที่วัดนี้ก็ได้มีราษฎรมาเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมากเช่นกัน
     แล้วในเช้าของวันที่ 12 มีนาคม 2502 เวลา08.00 ในหลวงภูมิพลและพระราชชินีก็ทรงได้เสด็จออกจากจังหวัดภูเก็ต โดยลงเรือแพขนานยนต์ข้ามจากฝั่งท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต ไปยัง บ้านท่านุ่น จังหวัดพังงา อีกครั้งหนึ่ง 
     โดยมีชาวบ้านมาส่งเสด็จกันอย่างเนืองแน่ ที่ตรงท่าฉัตรไชย









..........................................................













      



      





     ในค่ำของวันทีึ 7 มีนาคม 2502 คืนนั้นในหลวงภูมิพลและพระราชินี ก็ได้ทรงประทับพักแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง
     รุ่งเช้าของวันที่ 8 มีนาคม 2502 เวลา07.00 ก็ทรงได้เสด็จออกจากจังหวัดระนองมุ่งหน้าต่อไปยังจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นจังหวัดที่3ของการเสด็จครั้งนั้น ในระหว่างทางเสด็จทั้ง2พระองค์ทรงพอพระทัยในทิวทัศน์ที่สวยงามตามเส้นทางระหว่างระนองกับกะเปอร์เป็นอย่างมาก

     เวลา12.00ขบวนเสด็จก็มาถึงหน้าที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ก็ได้เบิกตัวนายอำเภอตะกั่วป่าเข้าเฝ้าฯ และนำเสด็จเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ
     ในจำนวนราษฎรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จที่หน้าอำเภอตะกั่วป่า ก็ได้มีราษฎรคนหนึ่งชื่อ นาย ท้วม พิมล อายุ99ปี และภรรยา คือ นาง ยัง อายุ89ปี มาเฝ้ารอรับเสด็จอยู่ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ นาย ท้วม มีอาการป่วยกระเสาะกระเสะ ต้องคอยให้ลูกๆหลานๆคอยอุ้มเวลาที่จะลุกหรือนั่ง แต่พอ นาย ท้วม ได้ข่าวการเสด็จ อาการป่วยที่เป็นอยู่ก็หายในทันที และได้ให้ลูกหลานพามาเพื่อเฝ้ารอรับเสด็จ


     นาย ท้วม บอกกับนักข่าวว่า "ตนนั้นเคยได้เฝ้ารอรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่5มาแล้ว ในครั้งที่พระองค์ได้ทรงเสด็จประพาสหัวเมืองทางใต้เมื่อ ปี2433 ตนจึงอยากที่จะมาเฝ้ารอรับเสด็จ พระนัดดา(หลาน)ของในหลวงรัชกาลที่5ให้ได้"
     ซึ่งพอในหลวงภูมิพลท่านทรงเสด็จผ่าน ในหลวงภูมิพลก็ได้มีรับสั่งกับลูกสาวของนาย ท้วม ว่า "..เลี้ยงดูแกให้ดีนะ จะได้อายุยืนๆ และหวังว่าครอบครัวนี้จะมีอายุยืนๆกันทั้งนั้น"..นาย ท้วม และภรรยา รวมถึงลูกหลาน ต่างก็ปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณจนน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว
     อีกรายหนึ่งคือ มารดาของนางสาว อุไร เตตระกูล นางสาวอุไร บอกกับนักข่าวว่าแม่ของตนนั้นได้นำเอารูปที่ในหลวงภูมิพลทรงอุ้มเจ้าฟ้าชาย ที่ได้ซื้อเก็บไว้ที่บ้าน นำมาทูลเกล้าให้แก่พระราชินี เมื่อพระราชินีเห็นเข้าก้ทรงตรัสกับแม่ของนางสาวอุไร ว่า "เดี๋ยวนี้ 6ขวบแล้ว"

     จากนั้นทั้ง2พระองค์ก็ทรงได้เสด้จไปยัง ต.บ้านท่านุ่น เพื่อนำรถยนต์พระที่นั่งลงแพขนานยนต์(ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีสะพานสารสิน)เพื่อไปยังท่าฉัตรไชย ของจังหวัดภูเก็ต  
       



........................................................