วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเพณีสารทเดือนสิบ (งานบุญเดือนสิบ ของชาวปักษ์ใต้)


ประเพณีสารทเดือนสิบ
(งานบุญเดือนสิบ ของชาวปักษ์ใต้)


     ประเพณีสารทเดือนสิบ  หรือเรียกว่า "งานบุญเดือนสิบ" หรือเรียกว่า “งานเดือนสิบ หรือเรียกว่า "งานชิงเปรต"(แล้วแต่จะเรียก) จัดเป็นงานบุญประเพณีของคนปักษ์ใต้ ที่ซึ่งได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อ มาจากทางศาสนาพราหมณ์ และผสมผสานกับความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ก็เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติผู้ล่วงลับ ที่ซึ่งเชื่อกันว่าจะได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก ที่ตนต้องถูกจองจำอยู่ อันเนื่องจากผลกรรมที่เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวในวัน แรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ เพื่อขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ และยังถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับด้วย หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรกอีกครั้ง ในวันแรม15 ค่ำ เดือน 10


     ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบนี้ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวปักษ์ใต้มักจะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยส่วนใหญ่แล้ว จะตรงกับเดือนกันยายนของทุกปี
     งานบุญเดือนสิบ เป็นงานที่มุ่งเพื่อจะตอบแทน ทดแทน พระคุณของบรรพบุรุษ แม้ว่าเค้าเหล่านั้นจะได้ล่วงลับไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรต้องยึดถือปฏิบัติ รวมทั้งปลูกฝังให้ชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติสืบทอดกันต่อๆไป  หรืออย่างน้อยเมื่อเค้าเหล่านั้นระลึกถึงเรื่องเปรต ก็จะสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษบ้าง รวมทั้งการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสงบสุข


     ความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวปักษ์ใต้ เชื่อว่าบรรพบุรุษ ซึ่งได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และ ญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว หากกระทำความดีไว้ เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์ แต่หากใครกระทำความชั่ว ก็จะตกนรก กลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญ ที่ลูกหลานอุทิศให้ในแต่ละปี เพื่อยังชีพ ดังนั้น ในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายหรือที่เรียกว่า เปรต ก็จะถูกปล่อยตัวจากนรก กลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมารอขอรับส่วนบุญ ส่วนกุศล จากลูกหลาน ญาติพี่น้อง และก็จะต้องกลับไปยังนรกดังเดิม ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งในโอกาสนี้เองที่ลูกหลาน หรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้นำเอาอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ผู้ล่วงลับ ถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยอย่างหนึ่ง และยังเชื่อว่าหากทำบุญในช่วงเวลานี้ให้ผู้ล่วงลับแล้ว ผู้ล่วงลับก็จะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข

     อีกอย่าง เนื่องจากสังคมไทย(สมัยก่อน)เป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือนสิบนี้ ก็ได้ทำการปักดำข้าวกล้าลงในผืนนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะมาทำบุญ เพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก
การทำบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ได้ถือปฏิบัติด้วยความศรัทธากันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ โดยถือเป็นคติความเชื่อว่า ในปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวบ้านส่วนใหญ่(สมัยก่อน)ซึ่งยังชีพด้วยการเกษตร มีความชื่นชมยินดีในพืชของตนเอง ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเวลาเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปลดปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลาน ญาติพี่น้อง เหตุนี้  โลกมนุษย์ จึงได้มีการทำบุญอุทิศ ส่วนกุศล ไปให้ โดยการจัดหาอาหารคาวหวาน วางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า “การตั้งเปรต” ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย 
     ประเพณีงานบุญเดือนสิบ มีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ การทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ และญาติผู้ล่วงลับ แต่ด้วยเหตุที่วิถีชีวิตของชาวปักษ์ใต้(ส่วนใหญ่)เป็นวิถีชีวิตแห่งชาวพุทธในสังคมเกษตรกรรม จึงได้มีความมุ่งหมายอย่างอื่นร่วมเข้ามาอยู่ด้วย
          1) เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับบรรพบุรุษ และญาติพี่น้อง หรือบุคคลอื่นผู้ล่วงลับ
          2) เป็นการทำบุญ ด้วยการเอาผลผลิตทางการเกษตร มาแปรรูปเป็นอาหารถวายพระสงฆ์ รวมถึง การจัดหฺมรับถวายพระ ในลักษณะของ “สลากภัต” นอกจากนี้ ยังถวายพระ ในรูปของผลผลิตที่ยังไม่แปรสภาพ เพื่อเป็นเสบียงแก่พระสงฆ์ ในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเอง ครอบครัว และเพื่อผลในการประกอบอาชีต่อไป
          3) เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกประเพณี โดยในบางจังหวัด บางท้องถิ่น ได้จัดงานกันอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี เรียกว่า “งานเดือนสิบ” เช่น ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ในจังหวัดสงขลา และ พัทลุง ...เป็นต้น






     การทำบุญในงานบุญเดือนสิบนี้ (หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “วันชิงเปรต”)ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน โดยจะ มีการทำบุญที่วัดกัน 2ครั้ง
          ครั้งแรก     วันแรม    1  ค่ำ   เดือนสิบ   เรียกว่า "วันรับตายาย"
          ครั้งที่สอง  วันแรม 15   ค่ำ  เดือนสิบ  เรียกว่า "วันส่งตายาย"


     การทำบุญทั้งสองครั้ง ถือเป็นการทำบุญที่แสดงถึง ความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ไปให้กับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิ ซึ่งเป็นคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่ผสมผสานกันกับประเพณีของศาสนาพุทธ โดยพุทธศาสนิกชน จะนิยมไปทำบุญ  วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตน เพื่อร่วมกันพิธีตั้งเปรต และชิงเปรต หรืออาจสลับสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ  ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่ง ฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ออกไปประกอบอาชีพนอกถิ่นฐานบ้านเกิด ได้มีโอกาสกลับมาพบปะสังสรรค์ และรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้นด้วยอย่างหนึ่ง
     ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะนิยมทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท  และขนมอื่นๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น โดยในวันงานชาวบ้านจะจัดแจงนำข้าวปลาอาหารและข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล(ศีล8) นำข้าวกระยาสารท และขนมอื่นๆที่เตรียมไว้ ไปฝากซึ่งกันและกัน ยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกลกัน หรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน สำหรับางท้องถิ่นจะทำขนม สำหรับบูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้ว ก็นำไปบูชาตามไร่ตามนาของตน โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
     สำหรับขั้นตอนพิธีกรรมของการทำบุญเดือน มีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน คือ
          1)การจัดหมฺรับและยกหมฺรับ
          2) การฉลองหมฺรับและการบังสุกุล
          3) การตั้งเปรตและการชิงเปรต
                *** คำว่า “หมฺ” ก็คือ สำรับ
     ในการจัดเตรียมสิ่งของที่จะใช้ในการจัดหมฺรับ นั้นจะเริ่มกันในวันแรม 13 ค่ำ ซึ่งวันนี้นิยมเรียกกันว่า "วันจ่ายทำให้บรรดาตลาดต่างๆ จะคึกคักและคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนชาวบ้าน ที่จะออกมาจัดแจงซื้อข้าวของอาหารแห้ง พืชผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน และที่ขาดไม่ได้นั้นคือขนมที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญเดือนสิบ เพื่อจัดเตรียมไว้สำหรับใส่หมฺรับ และสำหรับนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ ที่ตนเคารพนับถือ
     สำหรับการจัดหมฺรับ มักนิยมจัดกันเฉพาะครอบครัว หรือจัดรวมกันในหมู่ญาติพี่น้อง โดยภาชนะที่ใช้จัดหมฺรับ ก็นิยมใช้กระบุง หรือเข่งสานด้วยด้วยตอกไม้ไผ่ ขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของหมฺรับ แต่ในปัจจุบันจะนิยมใช้ภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษในการจัดหมฺรับ ซึ่งจะการบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบ ฯลฯ ลงภายในภาชนะที่เตรียมไว้เสร็จ


     โดยลักษณะของการจัด จะมีดังนี้
          ชั้นล่างสุด จะจัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้ง ลงไปไว้ที่ก้นภาชนะได้แก่ ข้าวสาร พริก เกลือ หอม กระเทียม กะปิ น้ำปลา น้ำตาล มะขามเปียก รวมทั้งบรรดาปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม กุ้งแห้ง เครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น
          ขั้นที่สอง จะจัดบรรจุอาหารประเภทพืชผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน ใส่ขึ้นมาจากชั้นแรก ได้แก่ มะพร้าว ขี้พร้า หัวมันทุกชนิด กล้วยแก่ ข้าวโพด อ้อย ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ รวมทั้งพืชผักอื่นที่มีในเวลานั้น
          ขั้นที่สาม จะจัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าวน้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วย ชาม เข็ม ด้าย หมาก พลู กานพลู การบูน พิมเสน สีเสียด ปูน ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน
          ขั้นบนสุด จะบรรจุและประดับประดาด้วยขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของงานบุญเดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการจัดหมฺรับ ซึ่งได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลาขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมที่บรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับจะได้นำไปใช้ประโยชน์


ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน เรือ แพ ที่บรรพบุรุษจะใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้น แผ่ดังแพ มีน้ำหนักเบา ย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้

ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลา มีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้


ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทน ลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่น ต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้า มีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน

ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทน เงิน เบี้ย สำหรับใชัสอย เหตุเพราะรูปทรงของขนม คล้ายเบี้ยหอย


ขนมกง (ไข่ปลา) หรือในบางท้องถิ่นเรียกว่า "ขมนเจาะหูเป็นสัญลักษณ์แทน เครื่องประดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะ คล้ายกำไล แหวน

     การจัดหฺมฺรับ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำบุญเดือนสิบ ด้วยการจัดเตรียมเสบียงอาหารบรรจุในภาชนะ นำไปถวายพระสงฆ์ ในช่วงเทศกาลงานบุญเดือนสิบ  เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่บรรพชน หรือญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้นำกลับไปใช้สอยในนรกภูมิ  หลังจากถูกปล่อยตัวมาอยู่ในเมืองมนุษย์ช่วงระยะเวลาหนึ่ง  และเมื่อถึงเวลาก็ต้องกลับไปใช้กรรมตามเดิม ฉะนั้น บรรดาลูกหลาน ก็จะต้องจัดเตรียม สิ่งของเครื่องใช้  อาหาร ฯลฯ มิให้ขาดตกบกพร่อง และบรรจงจัดลงภาชนะ ตกแต่งประดับประดา ด้วยดอกไม้ให้สวยงาม เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุด ให้กับบรรพบุรุษ  ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก  ความผูกพัน  และความกตัญญูกตเวที


     ช่วงเวลาของการทำบุญเดือนสิบ  จะมีการกำหนดวัน ที่จะดำเนินการเรื่อง  “หมฺรับ” อยู่หลายวัน และก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน คือ 
          “วันหฺมฺรับเล็ก จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับอนุญาต ให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งลูกหลานก็จะจัดหมฺ หรือสำรับ อาหารคาวหวาน ไปทำบุญที่วัด เพื่อเป็นการต้อนรับ ในบางท้องถิ่นนิยมเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย
          “วันยกหฺมฺรับ จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัดใกล้บ้าน หรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม  โดยอาจจะรวมกลุ่มคนในชุมชนบ้านไกล้เรือนเคียง หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้ 
          “วันหฺมฺรับใหญ่ หรือวันหลอง หรือวันฉลองหฺมฺรับ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ นับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะเป็นการทำบุญส่งบรรพบุรุษ และญาติพี่น้องที่ล่วงรับกลับไปยังเมืองนรก เชื่อกันว่าหากไม่ได้กระทำพิธีกรรมในวันนี้ บรรพบุรุษพี่น้องที่ล่วงลับ ก็จะไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ทำให้เกิดทุขเวทนาด้วยความอดอยาก ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะกลายเป็นคนอกตัญญู ดังนั้นในวันนี้ จะมีการนำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่  และมีการทำพิธีบังสุกุล  อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษด้วย  รวมถึงการตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ 


     ขณะเดียวกัน ก็จะทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมาด้วย การตั้งเปรตและการชิงเปรต จะกระทำหลังจากเสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแก่ภิกษุแล้ว โดยนิยมนำขนมที่เตรียมไว้อีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ ตามบริเวณวัด โคนไม้ใหญ่ หรือกำแพงวัด เรียกว่า "การตั้งเปรตเป็นการอุทิศแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ให้เป็นสาธารณะทาน แก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่ได้มา หรือมาทำบุญไม่ได้ บางวัดนิยมสร้างร้านขึ้น เพื่อสะดวกแก่ตั้งเปรต เรียกว่า "หลาเปรต" หรือ "ศาลาเปรต" 


     เมื่อตั้งขนม ผลไม้และเงินทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะนำสายสิญจน์มาผูกไว้เพื่อที่จะได้ทำพิธีบังสุกุลเพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลด้วย เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ ก็จะเก็บสายสิญจน์ หลังจากนี้ก็เป็นช่วงที่เรียกว่า "ชิงเปรต


     โดยทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก เพราะความเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลอันแรงกล้า เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว 


     วัดบางแห่งสร้างหลาเปรตไว้สูง โดยมีเสาเพียงเสาเดียว เสานี้จะเกลาจนกลมลื่นและยังชะโลมด้วยน้ำมัน เมื่อถึงเวลาชิงเปรต เด็กๆก็จะแย่งกันปีนขึ้นไป หลายคนตกลงมาเพราะเสาลื่น และอาจถูกคนอื่นดึงขาพลัดตกลงมา กว่าจะมีผู้ชนะการปีนไปถึงหลาเปรต ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงมีทั้งความสนุกสนาน และความและความตื่นเต้น


วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ในหลวงภูมิพล กับความทรงจำ(ตอนที่4)



     ปี2517  ในหลวงภูมิพล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานประทับแรมขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เพื่อจะได้ทรงมีโอกาสเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรได้โดยใกล้ชิด ที่จังหวัดนราธิวาสนี้เอง เมื่อปีพุทธศักราช 2517 ได้ทรงริเริ่มโครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ และโครงการชลประทานมูโนะ ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรจำนวนมาก ได้มีที่ทำมาหากินเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน 


     ปี2518  ส่วนพระราชฐานที่ประทับในกรุงเทพฯ คือ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเกษตรกรรมตามพระราชดำริ เช่น บ่อปลา หรือนาข้าวทดลอง เป็นต้น ในปีนี้ได้ทรงริเริ่มโครงการโรงบดแกลบสวนจิตรลดา เพื่อแสวงหาหนทางใช้ประโยชน์จากแกลบที่ได้จากการสีข้าว เพื่อประหยัดทรัพยากรพลังงานในรูปอื่น 


     ปี2519  วันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2519 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหมั้น หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร หลังพระราชพิธีหมั้นแล้วไม่นาน ก็โปรดให้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ในตอนต้นเดือนมกราคม พุทธศักราช 2520 


     ปี2520  ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของพสกนิกรทั่วประเทศ 


     ปี2521  ปลายปีพุทธศักราช 2521 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา มีกำหนด 15 วัน ในวันพระราชพิธีทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นายเติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลานั้น ได้เฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วย 


     ปี2522  วันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2522 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือน และขึ้นพระอู่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชนัดดาพระองค์แรก ซึ่งประสูติตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช 2521 หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วเพียง 2 วัน 


     ปี2523  เนื่องจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศเพื่อนบ้านที่รุนแรงขึ้นโดยลำดับ ติดต่อกัน 2-3 ปี ทำให้มีผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเกียรติคุณเป็นที่ร่ำลือไปในนานาประเทศ พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ฉายเมื่อคราวที่นางโรสลิน คาร์เตอร์ ภรรยาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยี่ยมค่ายผู้อพยพในประเทศไทย และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ภูพานราชนิเวศน์ 


     ปี2524  ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพไทย ในหลวงภูมิพล ทรงเป็นมิ่งขวัญและมิ่งมงคลเหนือเศียรเกล้าของทหารหาญทุกกรมกอง คราใดก็ตามที่เกิดเหตุความไม่สงบเรียบร้อย หรือภัยรุกรานจากศัตรูภายนอกประเทศขึ้น ทหารทุกคนจึงพร้อมใจถวายชีวิตเป็นราชพลี เพราะเขารู้ดีว่า การทำงานเพื่อบ้านเมือง และเพื่อ “พระเจ้าอยู่หัว” เป็นเกียรติสูงสุดของคนไทย 


     ปี2525  ปีนี้เป็นโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2525 ขณะทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระอาทิตย์ทรงกลดงามโชติช่วงเหมือนเหตุการณ์เมื่อครั้งแรกสร้างกรุง ตามที่พระราชพงศาวดารจดไว้


     ปี2526  ปลายฤดูฝนพุทธศักราช 2526 เกิดอุทกภัยขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า ในหลวงภูมิพล เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภูมิประเทศที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อทรงหาหนทางแก้ไข ด้วยทรงยึดมั่นในพระราชหฤทัยเสมอว่า ทุกข์สุขของราษฎร คือทุกข์สุขของพระองค์เอง ชาวบ้านที่ได้เฝ้าชมพระบารมีโดยไม่คาดฝัน หลายคนนึกอยู่ในใจว่า “น้ำท่วมหรือจะชนะน้ำพระราชหฤทัย”


     ปี2527  ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่มีวันหยุด และไม่เลือกเวลา พระราชกฤษดาภินิหารของในหลวงภูมิพล เป็นที่ขจรขจายไปทั่วทิศานุทิศ เช่นในปีพุทธศักราช 2527 นี้ มหาวิทยาลัยทัฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เฉลิมพระเกียรติยศ 


     ปี2528  นอกเหนือจากโครงการตามพระราชดำริ นับร้อยนับพันโครงการ ในหลวงภูมิพล ได้ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นเสมือนหนึ่งห้องทดลองขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง ได้เข้ามาศึกษาวิธีการพัฒนาแผนใหม่ได้ด้วยตนเอง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ 


     ปี2529  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงพระปรีชาเยี่ยมยอดในงานศิลปะทุกแขนง 


     ปี2530  ปีพุทธศักราช 2530 เป็นปีมหามงคลของชาวไทย 50 กว่าล้านคน ด้วยเป็นมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ทุกฝ่ายทุกคนพร้อมใจกันจัดงานสมโภชด้วยความรื่นเริงใจ งานเฉลิมพระชนมพรรษาคราวนั้น มีงานใหญ่ติดต่อกันหลายวัน แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็ยังรู้สึกว่าไม่พอแก่พระมหากรุณาธิคุณที่เป็นที่ล้นที่พ้นเกินจะประมาณ


     ปี2531  วันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 เป็นศุภมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อันเป็นสมัยที่หาได้ยากยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งการพระราชพิธี ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ตามแบบแผนพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครั้งแรกเมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงมหาราช













ในหลวงภูมิพล กับเมืองแห่งไข่มุกอันดามัน นามว่าภูเก็ต


     
     ในบ่ายของ วันที่ 8 มีนาคม 2502 เมื่อในหลวงภูมิพลและพระราชินีเสด็จมาถึง ต.บ้านท่านุ่น จ.พังงา ก็ได้ลงเรือแพขนานยนต์เพื่อข้ามทะเลอันดามันไปยังจังหวัดภูเก็ต โดยไปขึ้นฝั่งที่ ท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต


     ขณะที่เรือแพขนานยนต์กำลังข้ามฝั่งมายังจังหวัดภูเก็ต ราษฎรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จก็ต่างเปล่งเสียงโห้ร้องไชโย ถวายพระพร กันดังกึกก้องไปทั่วทั้งบริเวณ



     เมื่อข้ามมาถึง นาย อ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ก็ได้กราบบังคมทูลถวายพระแสงราชศาสตราประจำจังหวัด


     จากนั้นในหลวงภูมิพลก็เสด็จขึ้นพลับพลาที่ประทับครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จต่อไปยังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อีกประมาณ 24 กิโล ซึ่งระหว่างทางเสด็จชาวภูเก็ตรับเสด็จในหลวงและพระราชินีของพวกเค้าอย่างมโหฬารที่สุด โดยมีแถวประชาชนเรียงรายตั้งแต่ชานเมืองไปจนถึงจวนผู้ว่าฯ ซึ่งนอกจากจะมีพสกนิกรชาวไทยที่รอรับเสด็จแล้ว ก็ยังมีชาวต่างชาติที่อยู่ในภูเก็ต ซึ่งมีทั้ง จีน อินเดีย มลายู ฝรั่งทุกชาติทุกภาษา ต่างก็มาเฝ้ารับเสด็จ 


และยังได้มีการตั้งซุ้มประตูต้อนรับ ไม่ต่ำกว่า20ซุ้ม โดยต่างก็กระตือรือร้นในการที่จะรอเฝ้ารับเสด็จในหลวงภูมิพลและพระราชินีที่รักและเทิดทูลของพวกเค้า




มีการตกแต่งบ้านเรือน รวมถึงการแต่งกายที่สวยงามเป็นพิเศษ(โดยในช่วงนั้นก่อนวันเสด็จราว10วัน ร้านตัดเสื้อชาย-หญิง ในภูเก็ตต่างต้องปิดรับงาน เพราะงานที่รับไว้ล้นมือ จนต้องทำกันทั้งวันทั้งคืน) และนอกจากคนในภูเก็ตแล้วก็ยังมีคนจากจังหวัดใกล้เคียง ก็ต่างมาร่วมรอเฝ้ารับเสด็จด้วยเป็นจำนวนมาก จนทำให้ตอนเย็นและค่ำของวันที่เสด็จมาถึง การจราจรในตัวเมืองภูเก็ตหลายสายต่างติดขัดแน่นขนัดไปทั่วทั้งจังหวัด



     ในเช้าตรู่ของวันที่ 9 มีนาคม 2502 สนามหน้าศาลากลางจังหวัด คับคั่งไปด้วยผู้คนที่ต่างมารอเฝ้าชมพระบารมีของในหลวงภูมิพลและองค์พระราชินี พอเวลา08.00 ในหลวงภูมิพล ซึ่งใส่เครื่องแบบชุดจอมพลเรือ ส่วนพระราชินีใส่ชุดสีฟ้าสดใส ก็เสด็จขึ้นประทับบนศาลากลางจังหวัด นาย อ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็กราบบังคมทูลว่า "..ในนามของราษฎรชาวภูเก็ต รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทั้ง2พระองค์ทรงเสด็จมาเยี่ยมชาวภูเก็ต และขอถวายพระพรให้ทรงมีพระเกษมสำราญ.."
     ในหลวงภูมิพล ก็ทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจ ในน้ำใจของชาวภูเก็ตที่ได้ให้การต้อนรับ และรับสั่งว่าทรงพอพระทัยในภูมิประเทศอันสวยงามของภูเก็ตอย่างมาก 
          "เราก็รอคอยมานานแล้วเหมือนกัน ที่จะได้มาเยี่ยมเมืองนี้ 
และอยากที่จะมาเที่ยวอีกเมื่อมีโอกาส


     จากนั้นในหลวงภูมิพลก็เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ อ.ถลาง โดยครั้งนั้นได้ทรงเสด็จไปชมวัดพระนางสร้างด้วย
  





เสร็จแล้วก็ทรงเสด็จชมหาดสุรินทร์ จนถึงเวลา18.00 จึงเสด้จกลับจวนผู้ว่าฯที่ซึ่งจัดเป็นที่ประทับแรม 






(ในคืนของวันที่ 9 มีนาคม 2502 คืนนั้น ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักประมาณ1ชั่วโมง จากที่ไม่เคยตกในภูเก็ตมานานถึง4เดือนกว่า โดยชาวเมืองภูเก็ตต่างก็เชื่อกันว่าเป็นอภินิหาร...แต่ก็ได้ทำให้พระราชินีทรงมีพระอาการเป็นหวัดเล็กน้อย)


     เช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2502 ซึ่งตามหมายกำหนดการ จะเป็นการพักผ่อนตามอัธยาศัยของพระองค์ ในหลวงภูมิพลจึงได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ โดยมีเพียงราชองครักษ์ติดตามเท่านั้น(โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่อารักขารายใดทราบเลย) พระองค์ทรงเสด็จไปถ่ายรูปซุ้มรับเสด้จต่างๆที่ราษฎรสร้างกันอย่างสวยงามเพื่อต้อนรับพระองค์ จากนั้นก็เสด็จชมไปท่าเรือใหม่ ที่ ต.บางรั่ว ชมอ่าวมะขาม และหาดราไวย์
ราษฎรที่พบเห็นพระองค์ต่างก็ตกใจ และพากันเข้าเฝ้า ในหลวงภูมิพลท่านก้ทรงทักทายสอบถามถึงสารทุกข์สุขดิบและการทำมาหากินต่างๆ ของราษฎรอย่างไม่ทรงถือพระองค์ จนผู้ที่ได้เข้าเฝ้าต่างปลาบปลื้มไปตามๆกัน 
  





     ต่อมาในเช้าของวันที่ 11 มีนาคม 2502 ในหลวงภูมิพลท่านก็ทรงเสด็จออกชมเมืองภูเก็ต เพียงพระองค์เดียวอีก(ไปกับราชองครักษ์คนสนิทไม่กี่คน) โดยได้ไปประทับที่ป่าตองในช่วงเช้า พอช่วงบ่ายก็ทรงได้เสด็จไปยังวัดมงคลนิมิต ซึ่งได้นมัสการพระพุทธรูปทองคำที่เพิ่งขุดพบใหม่ด้วย โดยได้รับสั่งกับเจ้าอาวาสว่ามีลักษณะที่งดงามมาก ซึ่งที่วัดนี้ก็ได้มีราษฎรมาเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมากเช่นกัน
     แล้วในเช้าของวันที่ 12 มีนาคม 2502 เวลา08.00 ในหลวงภูมิพลและพระราชชินีก็ทรงได้เสด็จออกจากจังหวัดภูเก็ต โดยลงเรือแพขนานยนต์ข้ามจากฝั่งท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต ไปยัง บ้านท่านุ่น จังหวัดพังงา อีกครั้งหนึ่ง 
     โดยมีชาวบ้านมาส่งเสด็จกันอย่างเนืองแน่ ที่ตรงท่าฉัตรไชย









..........................................................